วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วิธีทำ ขนมสำปันนี

วิธีการทำ ขนมสำปันนี

ขนมสำปันนี
ส่วนผสม
* แป้งมัน             3 1/2 ถ้วยตวง
* น้ำตาลทราย       3 1/2 ถ้วยตวง
* มะพร้าวขูด         500 กรัม
* น้ำลอยดอกมะลิ    2 ถ้วยตวง
* สีผสมอาหาร
* เทียนอบ

วิธีทำ
1. นำน้ำลอยดอกมะลิไปผสมกับมะพร้าวขูด คั้นเป็นน้ำกะทิออกมา จากนั้นใสน้ำตาลทรายลงไป
แล้วนำไปตั้งบนไฟอ่อนๆ เคี่ยวจนงวดเป็นยางมะตูม ปิดไฟและทิ้งไว้ให้เย็น
2. นำแป้งมันไปคั่วบนกระทะให้สุก เสร็จแล้วปิดไฟ ทิ้งไว้ให้เย็น
3. ผสมแป้งที่คั่วแล้ว (ขั้นตอนที่สอง) กับน้ำกะทิเชื่อม (ขั้นตอนที่ 1) และสีผสมอาหาร
คนจนส่วนผสมละลายทั่วและเข้ากันดี จึงนำไปอัดใส่แม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ อบด้วยเทียน
4. จัดใส่จานเสริฟ รับประทานได้ทันที



ส่วนผสม
* แป้งมัน             3 1/2 ถ้วยตวง
* น้ำตาลทราย       3 1/2 ถ้วยตวง
* มะพร้าวขูด         500 กรัม
* น้ำลอยดอกมะลิ    2 ถ้วยตวง
* สีผสมอาหาร
* เทียนอบ

วิธีทำ
1. นำน้ำลอยดอกมะลิไปผสมกับมะพร้าวขูด คั้นเป็นน้ำกะทิออกมา จากนั้นใสน้ำตาลทรายลงไป
แล้วนำไปตั้งบนไฟอ่อนๆ เคี่ยวจนงวดเป็นยางมะตูม ปิดไฟและทิ้งไว้ให้เย็น
2. นำแป้งมันไปคั่วบนกระทะให้สุก เสร็จแล้วปิดไฟ ทิ้งไว้ให้เย็น
3. ผสมแป้งที่คั่วแล้ว (ขั้นตอนที่สอง) กับน้ำกะทิเชื่อม (ขั้นตอนที่ 1) และสีผสมอาหาร
คนจนส่วนผสมละลายทั่วและเข้ากันดี จึงนำไปอัดใส่แม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ อบด้วยเทียน
4. จัดใส่จานเสริฟ รับประทานได้ทันที

ขนมไทยในแต่ละภาค

ขนมไทยในแต่ละภาค
 
ขนมไทยภาคเหนือ
ส่วนใหญ่จะทำจากข้าวเหนียว และส่วนใหญ่จะใช้วิธีการต้ม เช่น ขนมเทียน ขนมวง ข้าวต้มหัวหงอก มักทำกันในเทศกาลสำคัญ เช่นเข้าพรรษา สงกรานต์ ขนมที่นิยมทำในงานบุญเกือบทุกเทศกาลคือขนมใส่ไส้หรือขนมจ๊อก ขนมที่หาซื้อได้ทั่วไปคือ ขนมปาดซึ่งคล้ายขนมศิลาอ่อน ข้าวอีตูหรือข้าวเหนียวแดง ข้าวแตนหรือข้าวแต๋น ขนมเกลือ ขนมที่มีรับประทานเฉพาะฤดูหนาว ได้แก่ ข้าวหนุกงา ซึ่งเป็นงาคั่วตำกับข้าวเหนียว ถ้าใส่น้ำอ้อยด้วยเรียกงาตำอ้อย ข้าวแคบหรือข้าวเกรียบว่าว ลูกก่อ ถั่วแปะยี ถั่วแระ ลูกลานต้ม ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขนมพื้นบ้านได้แก่ ขนมอาละหว่า ซึ่งคล้ายขนมหม้อแกง ขนมเปงม้ง ซึ่งคล้ายขนมอาละหว่าแต่มีการหมักแป้งให้ฟูก่อน ขนมส่วยทะมินทำจากข้าวเหนียวนึ่ง น้ำตาลอ้อยและกะทิ ในช่วงที่มีน้ำตาลอ้อยมากจะนิยมทำขนมอีก 2 ชนิดคือ งาโบ๋ ทำจากน้ำตาลอ้อยเคี่ยวให้เหนียวคล้ายตังเมแล้วคลุกงา กับ แปโหย่ ทำจากน้ำตาลอ้อยและถั่วแปยี มีลักษณะคล้ายถั่วตัด

ขนมไทยภาคกลาง
ส่วนใหญ่ทำมาจากข้าวเจ้า เช่น ข้าวตัง นางเยี่ยวเล็ด ข้าวเหนียวมูน และมีขนมที่หลุดลอดมาจากรั้ววัง จนแพร่หลายสู่สามัญชนทั่วไป เช่น ลูกชุบ หม้อข้าวหม้อแกง ฝอยทอง ทองหยิบ ขนมตาล ขนมกล้วย ขนมเผือก เป็นต้น
 
ขนมไทยภาคอีสาน
เป็นขนมที่ทำกันง่ายๆ ไม่พิถีพิถันมากเหมือนขนมภาคอื่น ขนมพื้นบ้านอีสานได้แก่ ข้าวจี่ บายมะขามหรือมะขามบ่ายข้าว ข้าวโป่ง นอกจากนั้นมักเป็นขนมในงานบุญพิธี ที่เรียกว่า ข้าวประดับดิน โดยชาวบ้านนำข้าวที่ห่อใบตอง มัดด้วยตอกแบบข้าวต้มมัด กระยาสารท ข้าวทิพย์ ข้าวยาคู ขนมพื้นบ้านของจังหวัดเลยมักเป็นขนมง่ายๆ เช่น ข้าวเหนียวนึ่งจิ้มน้ำผึ้ง ข้าวบ่ายเกลือ คือข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนจิ้มเกลือให้พอมีรสเค็ม ถ้ามีมะขามจะเอามาใส่เป็นไส้เรียกมะขามบ่ายข้าว น้ำอ้อยกะทิ ทำด้วยน้ำอ้อยที่เคี่ยวจนเหนียว ใส่ถั่วลิสงคั่วและมะพร้าวซอย ข้าวพองทำมาจากข้าวตากคั่วใส่มะพร้าวหั่นเป็นชิ้นๆ และถั่วลิสงคั่ว กวนกับน้ำอ้อยจนเหนียวเทใส่ถาด ในงานบุญต่างๆจะนิยมทำขนมปาด (คล้ายขนมเปียกปูนของภาคกลาง) ลอดช่อง และขนมหมก (แป้งข้าวเหนียวโม่ ปั้นเป็นก้อนกลมใส่ไส้กระฉีก ห่อเป็นสามเหลี่ยมคล้ายขนมเทียน นำไปนึ่ง)
 
ขนมไทยภาคใต้
ชาวใต้มีความเชื่อในเทศกาลวันสารท เดือนสิบ จะทำบุญด้วยขนมที่มีเฉพาะในท้องถิ่นภาคใต้เท่านั้น เช่น ขนมลา ขนมพอง ข้าวต้มห่อด้วยใบกะพ้อ ขนมบ้าหรือขนมลูกสะบ้า ขนมดีซำหรือเมซำ ขนมเจาะหูหรือเจาะรู ขนมไข่ปลา ขนมแดง เป็นต้น
ตัวอย่างของขนมพื้นบ้านภาคใต้ได้แก่
- ขนมหน้าไข่ ทำจากแป้งข้าวเจ้านวดกับน้ำตาล นำไปนึ่ง หน้าขนมทำด้วย กะทิผสมไข่ น้ำตาล เกลือ ตะไคร้และหัวหอม ราดบนตัวขนม แล้วนำไปนึ่งอีกครั้ง
- ขนมฆีมันไม้ เป็นขนมของชาวไทยมุสลิม ทำจากมันสำปะหลังนำไปต้มให้สุก โรยด้วยแป้งข้าวหมาก เก็บไว้ 1 คืน 1 วันจึงนำมารับประทาน
- ขนมจู้จุน ทำจากแป้งข้าวเจ้านวดกับน้ำเชื่อม แล้วเอาไปทอด มีลักษณะเหนียวและอมน้ำมัน
- ขนมคอเป็ด ทำจากแป้งข้าเจ้าผสมกับแป้งข้าวเหนียว นวดรวมกับไข่ไก่ รีดเป็นแผ่น ตัดเป็นชิ้นๆ เอาไปทอด สุกแล้วเอาไปเคล้ากับน้ำตาลโตนดที่เคี่ยวจนเหนียวข้น
- ขนมคนที ทำจากใบคนที ผสมกับแป้งและน้ำตาล นึ่งให้สุก คลุกกับมะพร้าวขูด จิ้มกับน้ำตาลทราย
- ขนมกอแหละ ทำจากแป้งข้าวเจ้ากวนกับกะทิและเกลือ เทใส่ถาด โรยต้นหอม ตัดเป็นชิ้นๆ โรยหน้าด้วย มะพร้าวขูดคั่ว กุ้งแห้งป่น และน้ำตาลทราย
- ขนมก้านบัว ทำจากข้าวเหนียวนึ่งสุก นำไปโขลกด้วยครกไม้จนเป็นแป้ง รีดให้แบน ตากแดดจนแห้ง ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดให้สุก ฉาบด้วยน้ำเชื่อม
- ข้าวเหนียวเชงา เป็นข้าวเหนียวนึ่งสุก ตำผสมกับงาและน้ำตาลทราย
- ข้าวเหนียวเสือเกลือก คล้ายข้าวโพดคลุกของภาคกลางแต่เปลี่ยนข้าวโพดเป็นข้าวเหนียวนึ่งสุกและใส่กะทิด้วย
- ขี้หมาพองเช มีลักษณะเป็นก้อนๆ ทำจากข้าวเหนียวคั่วสุกจนเป็นสีน้ำตาล ตำให้ละเอียดเคล้ากับมะพร้าวขูด น้ำตาลโตนดที่เคี่ยวจนข้น เคล้ให้เข้ากันดี แล้วปั้นเป็นก้อน
- ขนมดาดา เป็นขนมของชาวไทยมุสลิม ใช้ในโอกาสเดียวกับฆานม ประกอบด้วยข้าวเจ้า ข้าวเหนียวผสมน้ำบดให้ละเอียด นำไปละเลงในกระทะที่มีน้ำมันร้อนๆ พับให้เป็นแผ่น กินกับน้ำตาลเหลว
- ขนมกรุบ นิยมทำกันในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้แป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำอุ่น นำไปรีดให้แผ่บางบนใบตอง นำไปนึ่งแล้วตากแดดให้แห้ง แล้วทอดให้กรอบคลุกกับน้ำตาลที่เคี่ยวเป็นยางมะตูม
- ขนมก้องถึ่ง ทำจากถั่วลิสงคั่ว คลุกกับน้ำตาลร้อนๆ แล้วใช้ไม้ทุบให้ละเอียดจนเป็นแผ่น ตัดเป็นชิ้น
 

ขนมไทยในพิธีกรรมและงานเทศกาล

ขนมไทยในพิธีกรรมและงานเทศกาล
เทศกาลสงกรานต์  ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย จะใช้ขนมที่เป็นมงคลนาม จัดเป็นขนมชั้นดีสำหรับการทำบุญเลี้ยงพระ และเป็นขนมสำหรับรับรองแขกเหรื่อ ที่มารดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ สมัยโบราณจะกวนกะละแมแต่ปัจจุบันอาจใช้ขนมอื่นๆ ที่อร่อยและสวยงาม เช่น ขนมชั้น ขนมลูกชุบ ตามความสะดวก
เทศกาลเข้าพรรษา
  (แรม ๑ ค่ำเดือน ๘) ขนมไทยที่ใช้ได้แก่ ข้าวต้มมัดและขนมแกงบวดต่างๆ เช่น ฟักทองแกงบวด กล้วยบวชชี เป็นต้น
เทศกาลออกพรรษา  มีพิธีทำบุญตักบาตรเทโว ขนมที่ใช้ในการทำบุญ คือข้าวต้มลูกโยน
สารทไทย เป็นงานประเพณีที่ชาวไทยทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติมิตรผู้ล่วงลับ จะมีขนมไทยประจำภาค อาทิ
- ภาคเหนือ กล้วยตาก เพราะมีกล้วยมาก นอกจากตากก็มีกวนและของแช่อิ่ม
- ภาคกลาง กระยาสารท เคียงคู่กับกล้วยไข่
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า งานบุญข้าวจี่ ขนมที่ใช้ได้แก่ ขนมเทียน ข้าวจี่
- ภาคใต้ เรียกว่างานบุญเดือนสิบ ขนมที่ใช้ได้แก่ ขนมลา ขนมกง ขนมพอง
ขนมไทยที่นิยมใช้ทำบุญเลี้ยงพระในงานมงคลหรือพิธีกรรมที่ขาดไม่ได้ ได้แก่
ขนมตระกูลทอง เช่น
- ทองเอก
- ทองหยิบ
- ทองหยอด
- ฝอยทอง
- ขนมมงคลนาม เช่น ขนมถ้วยฟู ขนมชั้น ขนมจ่ามงกุฎ ขนมเสน่ห์จันทร์
 
ขนมไทยสำหรับพิธีแต่งงาน
นอกจากขนมมงคลนามที่ใช้ในงานมงคลแล้ว ยังต้องมี คือ
- ขนมกง รูปร่างเป็นล้อรถไม่มีรอยต่อ มีความเชื่อว่าจะทำให้ความรักของคู่บ่าวสาวจีรัง ไม่มีวันแยกจากกัน
- ขนมโพรงแสม มีรูปร่างยาวใหญ่คล้ายกับเสาเรือน ทำให้อยู่กันยืนยาว
- ขนมสามเกลอ มีลักษณะเป็นสามก้อนติดกัน ให้คู้บ่าวสาวเสี่ยงทายว่าจะอยู่ด้วยกันได้นานหรือไม่ หากขนมแยกจากกันก็ถือว่าไม่ใช่เนื้อคู่ที่แท้จริง นอกจากนี้ยังมี
- ขนมใส่ไส้
- ขนมฝักบัว
- ขนมบ้าบิ่น
- ขนมนมสาว
พิธีบวงสรวงสังเวยเทพยดาและพระภูมิ ขนมที่นิยมใช้สำหรับพิธีบวงสรวงสังเวยเทพยดาและพระภูมิ นอกจากขนมเป็นมงคลนามแล้ว ก็มีขนมตามความเชื่อ ในลัทธิพราหมณ์ ดังนี้
- ขนมต้มแดง
- ขนมต้มขาว
- ขนมเล็บมือนาง
- ขนมคันหลาว
- ขนมดอกจอก
- ขนมทองหยิบ
- ขนมถั่วแปบ
- ขนมหูช้าง
- ข้าวเหนียวแดง
- ขนมประเภทบวชต่างๆ
 

การกินแบบไทย

การกินแบบไทย
     
                                                                
 
     ประโยชน์ของการกินแบบไทยๆ การกินน้อย กินพอประมาณ การรู้จักคำว่า กินน้อย กินพอประมาณ จะช่วยให้ร่างกายสามารถขจัดสิ่งที่ล้นเกินความต้องการได้อย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ หวานพอดี เค็มพอดี มันพอดี ร่างกายรับรู้ได้จัดการได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ารับหวาน มัน เค็ม เข้าสู่ร่างกายไม่มีหยุด ไม่มีพอ อย่างที่เด็กหรือวัยรุ่นหลายรายกำลังดำเนินชีวิตอย่างนี้ก็เป็นการทำร้ายระบบอวัยวะขับถ่ายของร่างกายของเราให้เสื่อมทรุดไปอย่างรวดเร็วนั่นเอง
    โดยพื้นฐานแล้วขนมไทยเป็นของกินตามวาระสำคัญๆ มากกว่าจะเป็นของว่างที่ให้กินหลังอาหารมื้อหลักเสียด้วยซ้ำ (การกินเป็นของว่างเป็นวัฒนธรรมตะวันตก) และวาระที่ว่าก็มักจะเป็นวาระที่เกี่ยวข้องกับงานบุญแทบทั้งสิ้น ขนมไทยได้เข้ามามีบทบาทในงานบุญตั้งแต่อดีตมาแล้วที่คนไทยทำขนมพิเศษๆ เฉพาะงานบุญขึ้น นั่นหมายถึงในปีหนึ่งๆ จะมีการทำขนมชนิดนั้นเพียง 1 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากทำยากและต้องใช้แรงใจแรงกายของคนหลายๆ คนร่วมกัน ชาวบ้านจะทำขนมนั้นๆ ในปริมาณมาก ซึ่งถ้าเหลือจากงานบุญก็จะนำไปแจกจ่ายเพื่อนบ้านและเก็บไว้กินเอง
    จะเห็นว่า การกินขนมของคนไทยสมัยก่อนนั้นเป็นของคู่งานบุญ ไม่ได้กินกันพร่ำเพรื่อเหมือนการกินขนมของคนสมัยนี้ ซ้ำขนมไทยก็ไม่ได้อยู่ในสถานะของการเป็นอาหารว่างที่จะมานั่งละเลียดกินหลังอาหารมื้อหลักเหมือนอย่างที่เรากำลังทำอยู่ อาหารว่างเป็นการกินตามวัฒนธรรมของตะวันตกที่เพิ่งเข้ามาในภายหลัง
     การสอนให้เด็กมีวินัยในการกินขนมนั้น ควรแนะนำให้เขาได้รู้จักขนมไทยให้มากขึ้นเพื่อเป็นอีกทางเลือกที่จะเข้าไปทดแทนขนมถุงในเวลาต่อไป สอนให้รู้จักความหมายและที่มาที่ไปของขนมไทย ที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองควรเริ่มทำขนมไทยให้เด็กได้กินเอง โดยเริ่มจากขนมที่ทำได้ง่ายๆ อย่างเช่น ขนมประเภทผลไม้เชื่อมใส่น้ำเชื่อม หรือน้ำกะทิใส่น้ำแข็ง ซึ่งขนมประเภทนี้สามารถพัฒนาหาผลไม้ที่มีประโยชน์มาใส่ได้สารพัด ที่สำคัญอย่าลืมเปิดโอกาสให้เด็กได้ร่วมกิจกรรมในการทำขนมด้วย เอาขั้นตอนง่ายๆ อย่างการช่วยปอกกล้วย ปอกผลไม้ ก็ได้ โดยตกลงกันในครอบครัวว่าจะทำขนมกินกันเองอาทิตย์ละครั้งพร้อมๆ กับลดค่าขนมถุงของเด็กลงเป็นลำดับ ลูกหลานของเราจะห่างไกลภัยจากขนมถุงได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวแต่ละครอบครัวจะใส่ใจให้ความสำคัญสร้างสรรค์กิจกรรมดังกล่าวให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง
 
เคล็ดลับการกินขนมไทยสำหรับคนกลัวอ้วน ห่วงหวาน    ด้วยวัตถุดิบที่หลากหลายทำให้ขนมไทยแตกหน่อออกลายมากมายหลายชนิด ในขณะที่รสชาติหอมหวานมันก็พัฒนาจนกลายเป็นศิลปะชั้นเลิศทางด้านอาหาร ทำให้ขนมไทยมีความพอดีอยู่ในตัว คือ ไม่หวาน ไม่มันจนเกินพอดี แต่อย่างไรก็ดีขนมไทยก็ยังเป็นของหวานที่คนบางคนอาจจะต้องระมัดระวังอยู่บ้าง โดยเฉพาะสำหรับคนที่กลัวอ้วนห่วงหวานแต่ไม่อยากจะพลาดขนมไทย
ข้อแนะนำการกินขนมไทยแบบระวังหวาน
    ให้เลือกกินขนมไทยประเภทที่มีส่วนประกอบของน้ำหรือเป็นขนมน้ำดีกว่าขนมประเภทเชื่อม หรือขนมแห้ง เพราะการที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบในขนมมากๆ จะทำให้มีสัดส่วนของแป้งและน้ำตาลน้อย ขนมที่แนะนำ อาทิ ตะโก้แห้ว กล้วยบวดชี แกงบวดเผือก เผือกน้ำกะทิ ลอดช่องน้ำกะทิ ผลไม้ลอยแก้ว วุ้นน้ำเชื่อม ซึ่งขนมน้ำประเภทที่ไม่ใช่แกงบวด ถ้ารู้สึกว่าหวานมากเราสามารถเติมน้ำแข็งใส่เพิ่มเข้าไปได้ ขนมประเภทนี้จะให้พลังงานน้อยกว่าขนมประเภทเชื่อมหรือขนมแห้งอย่างพวกทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง หรือเม็ดขนุนค่อนข้างมาก
 

วัตถุดิบในการทำขนมไทย

วัตถุดิบในการทำขนมไทย
วัตถุดิบในการปรุงขนมไทย ขนมไทยส่วนใหญ่ทำมาจากข้าวและจะใช้ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น สี ภาชนะ กลิ่นหอมจากธรมชาติ ข้าวที่ใช้ในขนมไทยมีทั้งใช้ในรูปข้าวทั้งเม็ดและข้าวที่อยู่ในรูปแป้ง นอกจากนั้นยังมีวัตถุดิบอื่นๆ เช่น มะพร้าว ไข่ น้ำตาล ซึ่งจะกว่างถึงรายละเอียดดังต่อไปนี้
ข้าวและแป้ง            การนำข้าวมาทำขนมของคนไทยเริ่มตั้งแต่ข้าวไม่แก่จัด ข้าวอ่อนที่เป็นน้ำนมนำมาทำข้าวยาคู พอแก่ขึ้นอีกแต่เปลือกยังเป็นสีเขียวนำมาทำข้าวเม่า    ข้าวเม่าที่ได้นำไปทำขนมได่อีกหลายชนิด เช่น ข้าวเม่าคลุก ข้าวเม่าบด ข้าวเม่าหมี่ กระยาสารท ข้าวเจ้าที่เหลือจากการรับประทาน นำไปทำขนมไข่มด  ขนมไข่จิ้งหรีด ข้าวตูได้อีก ส่วนแป้งที่ใช้ทำขนมไทยส่วนใหญ่ได้มาจากข้าวคือแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียว ในสมัยก่อนใช้แป้งสดคือแป้งที่ได้จากการนำเม็ดข้าวแช่น้ำแล้วโม่ให้ละเอียด ในปัจจุบันใช้แป้งแห้งที่ผลิตจากโรงงาน นอกจากนี้แป้งที่ใช้ได้แก่ แป้งถั่ว แป้งท้าวยายม่อม แป้งมันสำปะหลัง ส่วนแป้งสาลีมีใช้น้อย มักใช้ในขนมที่ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ
มะพร้าวและกะทิ     มะพร้าวนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของขนมไทยได้ตั้งแต่มะพร้าวอ่อนจนถึงมะพร้าวแก่ดังนี้
   • มะพร้าวอ่อน ใช้เนื้อผสมในขนม เช่น เปียกสาคู วุ้นมะพร้าว สังขยามะพร้าวอ่อน
   • มะพร้าวทึนทึก ใช้ขูดฝอยทำเป็นไส้กระฉีก ใช้คลุกกับข้าวต้มมัดเป็นข้าวต้มหัวหงอก และใช้เป็นมะพร้าวขูดโรยหน้าขนมหลายชนิด เช่น ขนมเปียกปูน     ขนมขี้หนู ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของขนมไทย
   • มะพร้าวแก่ นำมาคั้นเป็นกะทิก่อนใส่ในขนม นำไปทำขนมได้หลายแบบ เช่น ต้มผสมกับส่วนผสม เช่นกล้วยบวชชี แกงบวดต่างๆ หรือตักหัวกะทิราดบนขนม เช่น สาคูเปียก ซ่าหริ่ม บัวลอย
น้ำตาล
     แต่เดิมนั้นน้ำตาลที่นำมาใชทำขนมคือน้ำคาลจากตาลหรือมะพร้าว ในบางท้องที่ใช้น้ำตาลอ้อย น้ำตาลทรายถูกนำมาใช้ภายหลัง

 
ไข่         เริ่มเป็นส่วนผสมของขนมไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งได้รับอิทธิพลจากขนมของโปรตุเกส ไข่ที่ใช้ทำขนมนี้จะตีให้ขึ้นฟูก่อนนำไปผสม ขนมบางชนิดเช่น ต้องแยกไข่ขาวและไข่แดงออกจากกัน แล้วใช้แต่ไข่แดงไปทำขนม
ถั่วและงา

          ถั่วและงาจัดเป็นส่วนผสมที่สำคัญในขนมไทย การใช้ถั่วเขียวนึ่งละเอียดมาทำขนมพบไดตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่นขนมภิมถั่วทำด้วยถั่วเหลืองหรือถั่วเขียวกวนมาอัดใส่พิมพ์[ ถั่วและงาที่นิยมใช้ในขนมไทยมีดังนี้
  • ถั่วเขียวเราะเปลือก มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ถั่วทอง ถั่วซีก ถั่วเขียวที่ใช้ต้องล้งและแช่น้ำค้างคืนก่อนเอาไปนึ่ง
  • ถั่วดำ ใช้ใส่ในขนมไทยไม่กี่ชนิด และใส่ทั้งเม็ด เช่น ข้าวต้มหมัด ข้าวหลาม ถั่วดำต้มน้ำตาล ขนมถั่วดำ
  • ถั่วลิสง ใช้น้อย ส่วนใหญ่ใช้โรยหน้าขนมผักกาดกวน ใส่ในขนมจ่ามงกุฏ ใส่ในรูปที่คั่วสุกแล้ว
  • งาขาวและงาดำ ใส่เป็นส่วนผสมสำคัญในขนมบางชนิดเช่น ขนมเทียนสลัดงา ขนมแดกงา

                                  
กล้วย       กล้วยมีส่วนเกี่ยวข้องกับขนมไทยหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น ขนมกล้วย กล้วยกวน กล้วยเชื่อม กล้วยแขกทอด หรือใช้กล้วยเป็นไส้ เช่น ข้าวต้มมัด  ข้าวเหนียวปิ้งไส้กล้วย ข้าวเม่า กล้วยที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นกล้วยน้ำว้า กล้วยแต่ละชนิดเมื่อนำมาทำขนมบางครั้งจะให้สีต่างกัน เช่น  กล้วยน้ำว้าเมื่อนำไปเชื่อมให้สีแดง กล้วยไข่ให้สีเหลือง เป็นต้น
 
สี
     สีที่ได้จากธรรมชาติและใช้ในขนมไทย มีดังนี้
   • สีเขียว ได้จากใบเตยโขลกละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ
   • สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน เด็ดกลีบดอกอัญชันแช่ในน้ำเดือด ถ้าบีบน้ำมะนาวลงไปเล็กน้อยจะได้สีม่วง
   • สีเหลืองจากขมิ้นหรือหญ้าฝรั่น
   • สีแดงจากครั่ง
   • สีดำจากกาบมะพร้าวเผาไฟ นำมาโขลกผสมน้ำแล้วกรอง
                                                      
กลิ่นหอม   กลิ่นหอมที่ใช้ในขนมไทยได้แก่
  • กลิ่นน้ำลอยดอกมะลิ ใช้ดอกมะลิที่เก็บในตอนเช้า แช่ลงในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วให้ก้านจุ่มอยู่ในน้ำ ปิดฝาทิ้งไว้ 1 คืน รุ่งขึ้นจึงกรอง นำนำไปใช้ทำขนม
  • กลิ่นดอกกระดังงา นิยมใช้อบขนมแห้ง โดยเด็ดกลีบกระดังงามาลนเทียนอบให้หอม ใส่ขวดโหลที่ใส่ขนมไว้ ปิดฝาให้สนิท
  • กลิ่นเทียนอบ จุดไฟที่ปลายเทียนอบทั้งสองข้างให้ลุกสักครู่หนึ่งแล้วดับไฟ วางลงในถ้วยตะไล ใส่ในขวดโหลที่ใส่ขนม ปิดผาให้สนิท
  • กลิ่นใบเตย หั่นใบเตยที่ล้างสะอาดเป็นท่อนยาว ใส่ลงไปในขนม

ขนมมงคล 9 อย่าง

ขนมมงคล 9 อย่าง
    “ขนมไทย” เอกลักษณ์ของความเป็นไทย นอกจากจะมีความงดงามวิจิตร ละเอียดอ่อน พิถีพิถันในทุกขั้นตอนการทำแล้ว ยังมีรสชาติที่อร่อย หอมกลิ่นพืชพรรณจากธรรมชาติ และกลิ่นอบร่ำควันเทียน อีกทั้งขนมแต่ละชนิดยังมีชื่อเรียกที่บ่งบอกถึงคุณค่า และแฝงไปด้วยความหมายอันเป็นสิริมงคล
    คำว่า “มงคล”หมายถึง สิ่งที่นำมาซึ่งความดีงามและความเจริญรุ่งเรือง ส่วน “ขนมมงคล”หมายถึง ขนมไทยที่นำไปใช้ประกอบเครื่องคาวหวาน ถวายพระ เลี้ยงแขก ในงานพิธีมงคลต่างๆ เช่น งานมงคลสมรส งานบวช หรืองานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น โดยจะต้องเลือกใช้เฉพาะขนมไทยที่มีชื่อไพเราะและเป็นสิริมงคล ดังเช่น “ขนมมงคล 9 อย่าง”
1. ทองหยิบ    เป็นขนมมงคลชนิดหนึ่ง มีลักษณะงดงามคล้ายดอกไม้สีทอง ต้องใช้ความสามารถและความพิถีพิถันเป็นอย่างมากในการประดิษฐ์ประดอย จับกลีบให้มีความงดงามเหมือนกลีบดอกไม้ ชื่อขนมทองหยิบเป็นชื่อสิริมงคล เชื่อว่าหากนำไปใช้ประกอบพิธีมงคลต่างๆ หรือให้เป็นของขวัญแก่ใครแล้วจะทำให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวย หยิบจับการงานสิ่งใดก็จะร่ำรวย มีเงินมีทองสมดังชื่อ “ทองหยิบ
2. ทองหยอด    ใช้ประกอบในพิธีมงคลทั้งหลายหรือมอบเป็นของขวัญในโอกาสสำคัญๆแก่ผู้ใหญ่ที่เคารพรัก หรือญาติสนิทมิตรสหายแทนคำอวยพรให้ร่ำรวยมีเงินมีทอง ใช้จ่ายอย่างไม่รู้หมดสิ้นประดุจให้ทองคำแก่กัน
3. ฝอยทอง    เป็นขนมในตระกูลทองที่มีลักษณะเป็นเส้น นิยมใช้กันในงานมงคลสมรส ถือเคล็ดกันว่าห้ามตัดขนมให้สั้น ต้องปล่อยให้เป็นเส้นยาวๆ เพื่อที่คู่บ่าวสาวจะได้ครองชีวิตคู่ และ รักกันได้อย่างยืนยาวตลอดไป
4. ขนมชั้น    เป็นขนมไทยที่ถือเป็นขนมมงคลและจะต้องหยอดขนมชั้นให้ได้ 9 ชั้น เพราะ คนไทยมีความเชื่อว่าเลข 9 เป็นเลขสิริมงคล หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า และ ขนมชั้นก็หมายถึง การได้เลื่อนชั้น เลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ให้สูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไป
5. ขนมทองเอก     เป็นขนมในตระกูลทองอีกชนิดหนึ่งที่ต้องใช้ความพิถีพิถันเ ป็นอย่างยิ่งในทุกขั้นตอนการทำ มีลักษณะที่สง่างาม โดดเด่นกว่าขนมตระกูลทองชนิดอื่นๆ ตรงที่มีทองคำเปลว ติดไว้ที่ด้านบนของขนม คำว่า “เอก” หมายความถึง การเป็นที่หนึ่ง การใช้ขนมทองเอกประกอบพิธีมงคลสำคัญต่างๆ หรือใช้มอบเป็นของขวัญในงานฉลองการเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง จึงเปรียบเสมือนคำอวยพรให้เป็นที่หนึ่งด้วย
6. ขนมเม็ดขนุน    เป็นหนึ่งในขนมตระกูลทองเช่นกัน มีสีเหลืองทอง รูปร่างลักษณะคล้ายกับเม็ดขนุน ข้างในมีไส้ทำด้วยถั่วเขียวบด มีความเชื่อกันว่าชื่อของขนมเม็ดขนุนจะเป็นสิริมงคลช่วยให้มีคนสนับสนุนหนุนเนื่องในการดำเนินชีวิตและในหน้าที่การงานหรือ กิจการต่างๆ ที่ได้กระทำอยู่
7. ขนมจ่ามงกุฎ    เป็นขนมที่ทำยาก มีขั้นตอนในการทำสลับซับซ้อน นิยมทำกันเพื่อใช้ประกอบพิธีการที่สำคัญจริงๆ คำว่า “จ่ามงกุฎ” หมายถึง การเป็นหัวหน้าสูงสุด แสดงถึงความมีเกียรติยศสูงส่ง นิยมใช้เป็นของขวัญในงานเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง ถือเป็นการแสดงความยินดีและอวยพรให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานยิ่งๆ ขึ้นไป
8. ขนมถ้วยฟู    ให้ความหมายอันเป็นสิริมงคล หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟู นิยมใช้ประกอบในพิธีมงคลต่างๆ ทุกงาน เคล็ดลับของการทำขนมถ้วยฟูให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทานนั้น คือการใช้น้ำดอกไม้สดเป็นส่วนผสมและการอบร่ำด้วยดอกมะลิสดในขั้นตอนสุดท้ายของการทำ
9. ขนมเสน่ห์จันทน์    “จันทน์” เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีผลสุกสีเหลืองเปล่งปลั่งทั้งสวยงามและมีกลิ่นหอมชวนให้หลงใหล คนโบราณจึงนำ ความมีเสน่ห์ของผลจันทน์มาประยุกต์ทำเป็นขนม และได้นำ “ผลจันทน์ป่น” มาเป็นส่วนผสมทำให้มีกลิ่นหอมเหมือนผลจันทน์ ให้ชื่อว่า “ขนมเสน่ห์จันทน์” โดยเชื่อว่าคำว่า เสน่ห์จันทน์ เป็นคำที่มีสิริมงคลจะทำให้มีเสน่ห์ คนรักคนหลงดังเสน่ห์ของผลจันทน์ ขนมเสน่ห์จันทน์จึงถูกนำมาใช้ประกอบในงานพิธีมงคลสมรส

ประโยชน์ของขนมไทย

ประโยชน์ของขนมไทย

        
                   
           ใยอาหาร" หรือ "Fiber" เป็นอาหารอีกหมู่หนึ่งที่ร่างกายมีความต้องการไม่น้อยไป กว่าอาหารหลักหมู่อื่น ใยอาหารนี้แท้ที่จริงแล้วคือ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ไม่ใช่แป้ง ซึ่งเป็นส่วนประกอบของ พืช ผัก และผลไม้ที่รับประทานได้ แต่ไม่ถูกย่อยโดยน้ำย่อยในระบบย่อยอาหาร เมื่อผ่านลำไส้ใหญ่บางส่วนจะถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ ทำให้กลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไฮโดรเจน น้ำ และกรดไขมันสายสั้นๆ ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ด้วยเหตุนี้ ใยอาหารจึงมีผลช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติช่วยดูดซับสารก่อมะเร็งที่อาจปะปนมากับอาหาร ซึ่งร่างกายสามารถขับถ่ายมาพร้อมกับอุจจาระ ช่วยลดการดูดซึมไขมันและคอเรสเตอรอลในเส้นเลือดได้และเพื่อสุขภาพที่ดีเราควรบริโภคอาหารที่มีเส้นใยอาหารในปริมาณ 25-30 กรัมต่อวัน ซึ่งในขนมไทยต่างมีใยอาหารประกอบอยู่ด้วยทั้งสิ้น
    กากใยอาหารในผักและผลไม้ที่นำมาใช้ทำขนม อย่างเช่น กล้วยบวดชี บวดเผือก บวดฟักทอง ยังคงสภาพอยู่กากใยเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการขับถ่ายของร่างกายทีเดียว ในขณะที่ ขนมพันธุ์ใหม่ที่ในยุคนี้จะเป็นขนมที่ต้องผ่านกระบวนการย่อยสลายหลายขั้นตอนมาก แป้งที่ใช้ทำขนมก็จะถูกฟอกขาว มีสารเคมีสังเคราะห์มากมายเข้าไปเป็นส่วนผสมทั้งในแป้งและน้ำตาล ซึ่งจะย่อยสลายทันทีในปาก เกิดกรดทำให้ฟันผุได้ทันที และความที่อาหารมีกากใยน้อยลง โรคที่ตามมาอีก คือ อาการท้องผูก ปัจจุบันกลายเป็นปัญหาของเด็กอย่างยิ่ง บางบ้านถึงกับทะเลาะกันระหว่างแม่กับพ่อเรื่องการถ่ายของลูก
เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ
- เบต้าแคโรทีน (beta-Carotene) เป็นองค์ประกอบของสารสีส้มแดง สีเหลืองในพืช ผัก ผลไม้ เป็นแหล่งของวิตามินเอ เพราะร่างกายสามารถเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนไปเป็นวิตามินเอได้ ซึ่งวิตามินเอนี้เป็นวิตามินชนิดไม่ละลายน้ำ มีหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็น การเจริญเติบโต เป็นสารต้านอนุมูลอิสระของไขมันบนผนังเซลล์ ทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้ดี
- แคลเซียม เป็นธาตุอาหารที่เป็นโครงสร้างของกระดูกและฟัน ช่วยการหดตัวของกล้ามเนื้อและการเต้นของหัวใจ ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์
ขนมไทยเป็นมิตรต่อสุภาพ
                         

    ขนมไทย มีรากเหง้ามาจากสังคมเกษตรผูกพันกับธรรมชาติ วัตถุดิบที่นำมาทำเป็นขนมก็ล้วนมาจากธรรมชาติ ดังนั้นคุณสมบัติหลายประการของผลผลิตตามธรรมชาติก็จะยังคงมีอยู่มาก จากการสำรวจคุณค่าทางโภชนาการขนมไทย ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่าขนมไทยส่วนใหญ่ นอกจากจะมีคุณค่าในสารอาหารหลักๆ อย่างคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันแล้วยังมีแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญต่อร่างกายรวมอีกด้วย อาทิเช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ เรตินอล แคโรทีน เป็นต้น ซึ่งคุณค่าอาหารรวมหมู่แบบนี้จะหาไม่ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะเป็นการสกัดสารอย่างใดอย่างหนึ่งมาบรรจุในแคปซูลเพื่อขายในราคาแพงๆ เท่านั้น และในขนมถุงสารอาหารที่มีประโยชน์เหล่านี้ก็ยังหาทำยาได้อยากเช่นกัน
    นอกจากนี้ ด้วยความที่ขนมไทยยังไม่ได้ถูกครอบงำจากระบบอุตสาหกรรมข้ามชาติ ทำให้ขนมไทยมีความปลอดภัย ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความปลอดภัยจากการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม หน้าแรก ขนมไทยเป็นมิตรต่อสุขภาพ ประโยชน์จากขนมไทยการเลือกรับประทานขนมไทย การกินแบบไทยๆ ขนมไทยในเทศกาลงานบุญ ขนมไทยในงานมงคล ขนมไทยแด่ผู้ยากไร้ ขนมไทยที่ใช้เป็นของขวัญ หรือ จีเอ็มโอ เพราะจากการตรวจสอบของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีช พบว่า มีขนมกรุบกรอบหรือขนมถุงที่จำหน่ายในท้องตลาดบางยี่ห้อมีการใช้วัตถุดิบที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอ แม้จะยังเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่มีบทสรุปมาจนถึงทุกวันนี้ว่า คนที่กินอาหารจีเอ็มโอหรือมีส่วนผสมของอาหารจีเอ็มโอเข้าไปจะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายหรือไม่อย่างไร แต่เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภคก็ไม่ควรที่จะเสี่ยง